สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
หญ้าหวาน" หวานอย่างมีคุณค่าต่อสุขภาพ
บทความ ณ. วันที่ : 30/11/2014        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 669 ครั้ง   

หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติ ใบหญ้าหวานสดหรือแห้ง มีความหวานสูงกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า เมื่อนำไปสกัดจะได้สารสกัดสตีวิโอไซด์ (stevioside) มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200-300 เท่า หญ้าหวาน (Stevia)  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni. เป็นพืชในวงศ์ Asteraceae วงศ์เดียวกับดาวเรืองหรือดอกทานตะวัน  เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศปารากวัย บราซิล ทวีปอเมริกา  ชาวอเมริกาใต้บริโภคหญ้าหวานมาเป็นเวลาเนินนาน และมีการบันทึกว่าชาวอินเดียแดงเคยใช้ตั้งแต่สมัยก่อนที่โคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกา 

    หญ้าหวานเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา มีการนำเข้าหญ้าหวานมาปลูกในประเทศไทยเมื่อ 2518 เขตที่ปลูกกันมาก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แต่ปลูกได้ผลดีที่สุดที่จังหวัดน่าน ปลูกโดยการใช้เมล็ดหรือปักชำ ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งของเกษตรกรไทย

    หญ้าหวานได้รับการยอมรับว่าเป็นสารหวานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังได้รับการส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มโรคอ้วน หรือผู้ที่ต้องการพลังงานต่ำ เพราะแม้จะมีความหวานสูงกว่าน้ำตาลทรายมาก แต่กลับไม่ให้พลังงานเลย ทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร และเมื่อรับประทานแล้ว ร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันทีไม่มีการสะสม และไม่ทำให้ฟันผุ

    มีรายงานการแพทย์ของอิเคดะ ตั้งแต่ปี คศ.1982 ซึ่งได้รายงานรับรองไว้ในเอกสารทางการแพทย์ว่า มีการบริโภคสารสกัดสตีวิโอไซด์อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และยืนยันว่าชาวญี่ปุ่นบริโภคสารหวานชนิดนี้มากกว่า 20 ปีแล้ว และยังบริโภคอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังไม่เคยปรากฏว่ามีอันตรายแต่อย่างใด และยังมีการทดลองบริโภคสารสตีวิโอไซด์ปริมาณ 750  มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลานานถึง 1 ปี ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร และยังสามารถลดความดันโลหิตสูงได้ 

    ส่วนการวิจัยทางด้านฤทธิ์ในการคุมกำเนิด สรุปว่าไม่มีผลต่อการคุมกำเนิดหรือทำให้เป็นหมันแต่อย่างใด หญ้าหวานและสารสกัดจากหญ้าหวาน (สตีวิโอไซด์) มีการบริโภคกันมาช้านานแล้ว ทางด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพก็มีการวิจัยทางการแพทย์รับรองมากมาย

    ปัจจุบันหญ้าหวานเป็นพืชสมุนไพรที่มีบทบาทในแวดวงสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการเปิดทางจาก อย.ที่เคยห้ามไว้ก่อนหน้านั้น อันเนื่องมาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศอเมริกาที่ระบุว่ามีผลทำให้เกิดโรคมะเร็ง ต่อมาจึงมีนักวิจัยจากทั่วโลกมากมายที่ค้นคว้าทดลองและคัดค้านงานวิจัยดังกล่าวจนเป็นผลสำเร็จ ทำให้เกิดการยอมรับว่าหญ้าหวานมีผลในทางที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าทางร้าย

    ทุกวันนี้มีการจำหน่ายใบหญ้าหวานรวมถึงสารสกัดสตีวิโอไซด์ (stevioside) มากขึ้น ในการประกอบอาหารเราสามารถใช้ใบหญ้าหวานเพิ่มความหวานได้ หรือต้องการเติมแต่งความหวานในน้ำชาโดยใช้เพียง 2-3 ใบเท่านั้น ก็ได้ความหวานในปริมาณที่สูงมาก เราจึงเห็นบทบาทของหญ้าหวานทำหน้าที่เติมความหวานให้เครื่องดื่มอยู่ทั่วไป

    แม้หญ้าหวานจะมีความหวานสูงแบบน้ำตาลทรายยังเรียกพี่ แต่กลับไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างได อย่างนี้ต้องเรียกว่าหวานอย่างมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง.


ที่มา.  ไทยโพสต์






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved