iggybooks
 
    สินค้าในตะกร้า [ 0 ชิ้น ]
 
บทบาทสมมติ สำคัญอย่างไรต่อเด็ก
บทความ ณ. วันที่ : 28/4/2014        จำนวนคนเข้าชมเว็บ : 424 ครั้ง   

   การเล่นมีความสำคัญต่อเด็กอย่างมากถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการ ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจก็จะสามารถนำกิจกรรมหรือคัดสรรของเล่นที่ เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็กได้
       
       การเล่นที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ และจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กอย่างมาก สิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยคือ การเล่นจะเป็นสื่อกลางในการพัฒนาสมองที่ทรงคุณค่าอย่างมหาศาล
       
       การเล่นสำหรับเด็กนั้นสามารถเล่นได้ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งลักษณะของการเล่นก็จะแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย อาทิ การเล่นในเด็กเล็กจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ภาษาและการสื่อสาร แม้เด็กจะยังพูดไม่ได้ แต่การเล่นจะช่วยให้เด็กเข้าใจรับรู้การสื่อสารกับบุคคลอื่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงด้านสังคม คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญอย่างมาก
       
       การเล่นทั่วไปกับการเล่นบทบาทสมมติต่างกันอย่างไร
       
       การเล่นทั่วไปนั้นอาจจะช่วยพัฒนาทักษะบางส่วน เช่น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การสื่อสาร การเข้าสังคม สติปัญญา แต่การเล่นบทบาทสมมติมีความสำคัญต่อเด็กดังนี้
       
       - เป็นการพัฒนาทักษะต่าง ๆ อาทิ จินตนาการ ภาษาและการสื่อสาร การแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การรู้จักและเข้าใจตนเอง การเรียนรู้บทบาทหน้าที่
       
       - เป็นการเตรียมชีวิตก่อนการก้าวเข้าสู่การดำเนินชีวิตในสังคมอย่างแท้จริง ช่วยให้เด็กรู้จักอดทนรอคอย รวมถึงฝึก EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ อีกทั้งยังทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานตามวัย นับเป็นการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมในทุก ๆ ด้าน
       
       การเล่นบทบาทสมมติส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการของเด็ก
       
       การเล่นบทบาทสมมติส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงด้านจิตใจด้วย ทั้งนี้ การเล่นบทบาทสมมติเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กค้นพบตัวเอง เข้าใจตนเอง และสามารถมองภาพฉายอนาคตของตนเองได้ด้วย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการเล่นบทบาทสมมติคือ ช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเด็ก
       
       การเล่นบทบาทสมมติมี 2 ลักษณะกว้าง ๆ คือ
       
       1. เด็กสร้างจินตนาการ และสมมติบทบาทสมมติเอง รวมถึงการสร้างเพื่อนในจินตนาการเอง โดยเด็กอาจต้องมีพื้นฐาน หรือเคยได้รับประสบการณ์จากที่ต่าง ๆ มาแล้ว และมาสร้างจินตนาการ บทบาทสมมติเอาเอง
       
       2. การเล่นบทบาทสมมติในสถานการณ์จำลองให้เสมือนจริง เช่น มีการจัดสิ่งแวดล้อม สภาพการณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการต่อยอดความคิด และจินตนาการให้เด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วมากกว่าแบบที่ 1
       
       นอกจากนี้ นักวิจัยทางด้านพฤติกรรมศาสตร์พบว่า การเล่นบทบาทสมมติมีส่วนช่วยอย่างมาก และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม นั่นเอง
       
       การส่งเสริมทักษะทั้ง 4 ด้านสำหรับเด็กวัย 4 - 14 ปี
       
       สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 4 - 14 ปี ในการส่งเสริมทักษะให้ลูกควรพิจารณาดังนี้
       
       1. ด้านร่างกาย พ่อแม่ควรเข้าใจพัฒนาการในด้านนี้อย่างมาก เนื่องจากหากพัฒนาด้านนี้ได้ดีเหมาะสมกับวัยก็จะเป็นฐานทำให้พัฒนาการด้าน อื่น ๆ ดีตามไปด้วย เช่น การให้โภชนาการที่เหมาะสม การให้ออกกำลังที่ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และให้เด็กได้ฝึกเคลื่อนไหวตามความสามารถของร่างกาย อีกทั้งถ้าพ่อแม่มีเวลาควรส่งเสริมลูกให้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อเป็นฐานในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงเรียนได้
       
       2. ด้านอารมณ์ เนื่องจากเด็กในวัยนี้เริ่มมีความเป็นตัวตน มีสังคมเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่ควรเข้าใจในการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็ก เด็กที่มีอารมณ์ดีจะปรับตัวง่าย ซึ่งการจะทำให้เด็กมีอารมณ์ที่ดีได้นั้น พ่อแม่ต้องมีอารมณ์ที่คงเส้นคงวาด้วย เนื่องจากเด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเลือกสื่อที่แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น การดูภาพยนตร์ การ์ตูน หรือการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ พ่อแม่ควรลองเล่น หรือควรได้ศึกษาก่อนที่จะให้ลูกได้เล่น เพราะสื่อเป็นสิ่งที่เด็กซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และไปแสดงออกเมื่อเด็กอยู่ในภาวะใดภาวะหนึ่ง
       
       3. ด้านสังคม พ่อแม่ควรพาเด็กออกไปสัมผัสประสบการณ์โลกภายนอกที่แตกต่างจากที่บ้าน หรือโรงเรียน โดยให้เด็กได้ฝึกเล่น และแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองก่อน พ่อแม่ไม่ควรทำทุกอย่างแทนเด็กหรือคิดแทนไปเสียทุกอย่าง เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มอยากค้นหาตัวเอง มีจินตนาการของตนเอง และเริ่มอยากมีโลกของตนเอง
       
       4. ด้านสติปัญญา พ่อแม่ควรส่งเสริมความสามารถตามวัยของเด็ก ไม่ควรเร่งรัดเกินไป เพราะการเร่งรัดเกินไปจะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายในทุกเรื่อง เมื่อเด็กพร้อมทั้งวุฒิภาวะและการเรียนรู้ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจที่เขาสามารถทำได้ คำชม คำพูด และการกระทำในเชิงบวกจะช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กเป็นอย่าง มาก เด็กในวัยนี้อยากทำทุกอย่างด้วยตนเอง ดังนั้นพ่อแม่ควรให้เด็กได้ลองลงมือทำเสียก่อน ถึงแม้พ่อแม่จะต้องใช้ความอดทนรอก็ตาม เพราะเด็กจะเรียนรู้ รู้สึกเบิกบานและอิ่มเอิบใจในสิ่งที่เขาสามารถลงมือทำได้ นำไปสู่การที่เด็กสามารถมองเห็นศักยภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ อันจะส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กอีกด้วย
       
       บทความโดย
       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มนัสนันท์ หัตถศักดิ์
       ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และพัฒนาการเด็ก
       ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยเกษตรศาส
ตร์






 
   
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บร้านค้าสมาชิกของ SABUYJAISHOP ผู้ให้บริการทางการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้า โฆษณา ประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือสินค้าในร้าน

©2008-2009 SABUYJAISHOP All Rights Reserved