บ้านหลังหนึ่งชานกรุงนิวยอร์ก มีจุดเด่นที่ประตูบ้านสีแดงสด
แต่หลังประตูสีแดงบานนั้น เต็มไปด้วยสมาชิกในบ้านที่ไม่มีใครยอมเปิดใจต่อกัน
ลองแง้มไปดูเราพบครอบครัว "หว่อง" อันประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกสาวทั้ง 3 คน
ลองลอบมองเข้าไปเห็นสมาชิกในครอบครัวกำลังนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวเย็นในวันเกิดของพ่อ
และเราก็รู้ได้ทันทีว่าครอบครัวนี้กำลังมีปัญหาการ "สื่อสาร" ระหว่างกัน
"ซาแมนธา" ลูกสาวคนโตที่กำลังจะจัดงานแต่งงานกับแฟนหนุ่ม
ปฏิเสธไม่ใส่ชุดแต่งงานสีแดงตามแบบธรรมเนียมจีน
อีกทั้งเวิร์กกิ้งวูแมนอย่างเธอกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางจิตใจ
ในการจะสร้างครอบครัวใหม่
"จูลี่" ลูกสาวคนรองนักเรียนแพทย์ฝึกหัดผู้มีโลกส่วนตัวที่ใครในบ้านก็เข้าไม่ถึง
ความเงียบของเธอทำให้เธอดูเหมือนไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรน่าห่วง
แต่อันที่จริงเธอเลือกที่จะไม่พูดกับสมาชิกในบ้าน แต่หันไปเล่าให้แฟนสาวฟังแทน
และน้องสาวคนสุดท้อง "เคธี่" นักเรียนไฮสคูลผู้มีความห่ามพิสดารทำตัวแปลกๆ เฉยเมย
และไม่แคร์กับปัญหาใครในครอบครัว นอกจากฟังไอพอด
และคิดแผนการกลั่นแกล้งเพื่อนนักเรียนหนุ่มที่ตัวเองปิ๊ง
ปัญหาของลูกสาวแต่ละนางรวมกับปัญหาการ "สื่อสาร" ล้มเหลวระหว่างกันในครอบครัว
ทำให้เกิด "ช่องว่าง" ทั้งจากวัย มุมมอง สิ่งแวดล้อม
และมันสะท้อนได้ชัดเจนว่าครอบครัวประตูสีแดงนี้กำลังโหยหา "ความสุข"
ที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจะว่าทุกข์ก็ไม่ จะว่าสุขหรือก็เปล่า
สภาพชีวิตแบบนี้ทำให้ "เอ็ด" พ่อที่เพิ่งเกษียณจากชีวิตทำงานคิดจะฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้ง
แม้กระทั่งในวันเกิดตัวเองที่ลูกๆ กับแม่นั่งรอกินข้าวกันพร้อมหน้า พ่อยังไม่วายจะพยายามฆ่าตัวตาย
(หนังนำเสนอแนวตลกร้าย ไม่ว่าพ่อจะพยายามอย่างไรก็มักจะถูกขัดจังหวะโดยบังเอิญหรือทำไม่สำเร็จ)
การสื่อสารที่ล้มเหลวของสมาชิกในบ้าน ทำให้พ่อที่ไม่รู้จะสื่อสารกับลูกสาว 3 คนอย่างไร
หาทางออกด้วยการนั่งดูเทปวิดีโอเก่าๆ ของลูกสาวทั้ง 3 คน ตั้งแต่ยังเด็กๆ ทดแทน
ดูเงียบๆ ยิ้มคนเดียว ดูจบไปแต่ละม้วนก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่กลับทุกข์ขึ้น
จนสุดท้ายเมื่อพยายามฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้งไม่สำเร็จ
ต้องหนีออกจากบ้านไปนั่งปฏิบัติธรรมแทน
ชาวจีนเชื่อกันว่าทาประตูบ้านสีแดงแล้วจะนำโชคและความสุขมาให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านและสมาชิกอื่นๆ ในบ้าน
แต่กับครอบครัว "หว่อง" Chinese-American เจ้าของบ้านประตูบ้านสีแดงเข้มกำลังเผชิญกับเงาเมฆครึ้มปกคลุม
สมาชิกในครอบครัวที่ต่างก็มีร่องรอยความไม่เข้าใจ เหินห่าง และมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น
Red Doors นำเสนอความล้มเหลวในการ "สื่อสาร" กันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
โดยเรื่องราวที่ว่า "จอร์เจีย ลี" ผู้กำกับฯ Chinese-American ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากครอบครัวของเธอเองด้วย
และบางส่วนบางตอนของครอบครัวก็ถูกนำมาเล่าอยู่ในหนัง
กว่าที่ Red Doors หรือประตูความสุขจะกลับมาหาครอบครัว "หว่อง" ได้
พวกเขาก็ตระหนักได้ว่าได้ปล่อยช่องว่างระหว่างการสื่อสารไว้
ให้เกิดเป็นพื้นที่แห่งความไม่เข้าใจ และค้างคาใจ
ในที่สุดลูกๆ ได้ค้นพบว่าอาการโหยความสุขของพ่อต้องเยียวยาหนักกว่าแค่พาพ่อไปบำบัดกับจิตแพทย์
แต่พวกเขาต้องรู้จัก "สื่อสาร" กับพ่อ และก็เลือกใช้เทปวิดีโอในวัยเด็กของพวกเธอแปลงลงแผ่นซีดียื่นกลับไปให้พ่อ
นั่นทำให้ "การสื่อสาร" เริ่มเปิดประตูให้ครอบครัว "หว่อง" ขึ้นอีกครั้ง
ส่วนประตูที่เริ่มเปิดจะเป็นประตูแห่งความสุขแท้จริงหรือไม่
Red Doors กำลังจะบอกเราว่าหากความเชื่อที่ว่า "ประตูสีแดง" จะให้โชค
และเสริมความสุขผู้เป็นเจ้าของบ้านแล้ว
คนเราก็มักจะพบความสุขโดยบังเอิญมากกว่าจะไขว่คว้าความสุขโดยวางแผน
และต้องยอมรับความทุกข์ให้ได้ว่ามันก็ไม่เป็นเรื่องเสียหายเสมอไป